Copyright 2024 - โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จังหวัดลพบุรี

ประวัติโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย

Pra Niam2016

โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย กำเนิดครั้งแรกที่วัดเสาธงทอง ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี มีท่านพระครูลวลพบุรีคณาจารย์ (เนียม ภุมมสโร) เจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง ซึ่งต่อมาเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ที่พระสังฆภารวาหมุนี ดำรงตำแหน่งผู้กำกับคณะสงฆ์จังหวัดลพบุรี เป็นองค์ริเริ่มก่อตั้งมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ ใช้ตึกคชสาร หรือโคโรซาน เป็นที่เรียนโดยมีนักเรียนครั้งแรก ๑๘ คน จ้างครูมาสอนโดยทุนของท่านเจ้าคุณ ต่อมามีนักเรียนมากขึ้นได้สร้างสถานที่ เรียนด้านทิศเหนือตึกปิจู ในวัดเสาธงทองเป็นที่เรียน โดยมีนักเรียนประมาณ ๑๕๐ คน โรงเรียนที่ตั้งขึ้นนี้ชื่อว่า โรงเรียนประจำเมืองลพบุรี วัดเสาธงทอง

เมื่อนักเรียนมากขึ้น ได้ย้ายมาสร้างที่เรียนใหม่ บริเวณบ้านหลวงรับราชทูต (บ้านวิชาเยนทร์) สร้างโดยทุนของเท่านเจ้าคุณพระสังฆภารวามุนี ร่วมกับเงินบริจาคของประชาชน และส่วนราชการธรรมการจังหวัดลพบุรี ย้ายนักเรียนมาเรียนที่ใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘ และใช้ชื่อว่า โรงเรียนประจำจังหวัดลพบุรี "วิชาเยนทร์" ชั้นมัธยมปีที่ ๑ ถึง ชั้นมัธยมปีที่ ๓ ได้ปรับปรุงกิจการลูกเสือขึ้น ลูกเสือราบ ลูกเสือม้า ลูกเสือพยาบาล พร้อมที่จะปฏิบัติงานช่วยเหลือทางราชการได้ทุกเวลา โดยทางกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๓ ส่งครูมาช่วยฝึก ในช่วงนี้มีนักเรียนหญิงมาร่วมเรียนด้วย แต่ไม่ถึง ๑๐ คน เมื่อทางจังหวัดเปิดโรงเรียนสำหรับสตรีขึ้น ชื่อว่า โรงเรียนสตรีลพบุรี "ลวะศรี" นักเรียนหญิงก็ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนแห่งใหม่

 

GenPor2016

เมื่อ พล.ต.หลวงพิบูลสงคราม (ยศในขณะนั้น) เป็นนายกรัฐมนตรี ได้บูรณะเมืองลพบุรี ให้เป็นเมืองทหาร ปรับปรุงผังเมืองใหม่ ตั้งแต่ทางรถไฟไปจนถึงเมืองใหม่ ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงการศึกษาไปด้วย เห็นว่าโรงเรียนเดิมที่คับแคบมาก จึงหาที่เรียนใหม่ เห็นว่าบริเวณกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๓ เดิม มีที่มาก จึงสร้างอาคารเรียนใหม่คือตึก ๑ ด้วยงบประมาณของกระทรวงกลาโหม

ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้ย้ายนักเรียนมาสอนที่โรงเรียนใหม่ และเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น " โรงเรียนประจำจังหวัดลพบุรี พิบูลวิทยาลัย " อันเป็นมงคลนามของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้สถาปนาโรงเรียนใหม่

ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้มีการสร้างตึก ๒ และโรงอาหาร เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเรียนปิดชั่วคราวเนื่องจากใช้เป็นที่ฝึกทหาร และใช้ตึก ๒ เป็นที่พักนักเรียนต้องอพยพย้ายไปเรียนตามโรงเรียนวัดต่าง ๆ เมื่อสงครามสงบก็กลับมาเรียนที่เดิม

กระทรวงศึกษาธิการ ได้เปิดแผนฝึกหัดครูขึ้น ชื่อว่า โรงเรียนฝึกหัดครูพิบูลวิทยาลัย เปิดสอนเมื่อ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ รับนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ มาเรียน ๓ ปี ได้วุฒิ ป.ป. แผนกฝึกหัดครู เปิดสอนอยู่ถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ก็ยุบนำนักเรียนไปเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ธนบุรี

ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้สร้างตึก ๓ หอประชุม เปิดการเรียนการสอน ถึงชั้นเตรียมอุดมศึกษา (มัธยมปีที่ ๗) จัดเป็นสหศึกษา มีนักเรียนหญิงมาเรียนในชั้นมัธยมศึกษาเป็นรุ่นแรก สร้างบ้านพักครู ตึกแถว ๑๐ ห้อง

ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เปิดรับนักเรียนหญิงที่จบชั้น ป.๔ มาเรียนชั้น ม.๑ เป็นรุ่นแรก

ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ จัดเป็นโรงเรียนประเคราะห์ ภาคการศึกษา ๖

ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ก่อสร้างอาคารเรียนอุตสาหกรรม จัดเป็นโรงเรียนมัธยมแบบประสม (ค.ม.ส.) รุ่นแรกของกรมสามัญศึกษา สร้างอาคารเรียนตึก ๔ บ้านพักครู ๑๐ หลัง บ้านพักภารโรง ๖ หลัง

ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ สร้างอาคารเรียนคหกรรมบ้านพักครู ๑๐ หลัง ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ โรงเรียนได้รับคัดเลือกเป็นโรงเรียนพระราชทานดีเด่นขนาดใหญ่ของกรมสามัญศึกษา ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ สร้างอาคารเรียนตึก ๕ เปิดสอนตามหลักสูตร มศ.๑ และปี ๒๕๒๑ เปิดสอนตามหลักสูตร ม.๑ ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ สร้างอาคารเรียนอเนกประสงค์ (อาคารพลานามัย) ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ สร้างหอประชุมใหม่ (หอประชุมพิบูลสงคราม) ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ สร้างอาคารเรียนตึก ๖ อาคาร ๔ ชั้นใต้ถุนโล่ง ๒๔ ห้องเรียน

ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย มีนักเรียนมากประมาณ ๕,๔๐๐ คน ครูประมาณ ๓๒๐ คน โรงเรียนจึงได้ไปสร้างโรงเรียนแห่งใหม่ โดยแยกชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ไปในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ โดย ใช้ชื่อว่า โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย ๒ ต่อมากรมสามัญศึกษาได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนพระนารายณ์ ตามชื่อเดิมของโรงเรียนประจำจังหวัดลพบุรี พระนารายณ์ โรงเรียนตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เปิดสอนระดับชั้น มัธยมศึกษาปีที่ ๑, ๒ และ ๓

 

f t g m